ไม่จ่ายค่าปรับจราจร ไม่ได้ป้ายภาษีรถ เสี่ยงโดนปรับและตัดคะแนนใบขับขี่ เริ่ม 1 เมษายน 2566 นี้ โดย หากท่านทำผิดกฎจราจรจนเจ้าหน้าที่ออกใบสั่ง แล้วท่านไม่ชำระค่าปรับ จนเป็น “ใบสั่งค้างจ่าย” ท่านจะถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน และไม่ได้ป้ายภาษี

โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป หากมีใบสั่งแล้วไม่ได้ไปจ่ายนั้น เมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนรถยนต์จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี หรือ ป้ายภาษี ให้ ผู้ขับขี่ที่ค้างชำระค่าปรับจะได้ใบแทนเสียภาษีชั่วคราว แทนใบจริง จนกว่าจะชำระค่าปรับให้ครบถ้วน ภายใน 30 วัน หลังรับใบแทน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เชื่อมต่อข้อมูลกัน และบังคับใช้กฎหมายพร้อมกวดขันวินัยการขับขี่ร่วมกัน จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ การตัดคะแนนความประพฤติ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และมาตรการชะลอการออกเครื่องหมาย แสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ในส่วนของมาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีจะใช้กับรถยนต์ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดย สตช. จะส่งข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียน ขบ. เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปีแต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้ แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ทันที
ทั้งนี้ การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษ ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่ารถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่ ขบ. กำหนด ให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน
ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระและคะแนนความประพฤติได้ที่เว็บไซต์ E-ticket PTM และแอปพลิเคชัน ขับดี

และสามารถชำระค่าปรับผ่านทาง 8 ช่องทาง
1) ชำระค่าปรับที่ค้างชำระต่อนายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5, สำนักงานขนส่งจังหวัด, สำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา หรือตัวแทนผู้ให้บริการชำระภาษี ในขณะไปต่อป้ายภาษีประจำปีได้ทันที
2) สถานีตำรวจทุกแห่ง
3) ไปรษณีย์ทุกสาขา
4) ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
5) เคาน์เตอร์บริการที่มีสัญลักษณ์ PTM
6) ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม
7) แอปพลิเคชัน “ขับดี” หรือ แอปพลิเคชัน “กรุงไทย NEXT”
8) บัตรเครดิต ผ่านเว็บไซต์ E-Ticket : https://ptm.police.go.th/eTicket
อ้างอิง รัฐบาลไทย cover iT24Hrs-S
อ่านบทความและข่าวอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ it24hrs.com
อย่าลืมกดติดตามอัปเดตข่าวสาร ทิปเทคนิคดีๆกันนะคะ Please follow us
Youtube it24hrs
Twitter it24hrs
Tiktok it24hrs
facebook it24hrs