Fake News ข่าวปลอม ที่แพร่ระบาดเต็มโลกโซเชียล แล้วเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ตามข่าวจากโลกโซเชียลกันหมด แต่ข่าวปลอม ข่าวมั่วก็มีอยู่เต็มไปหมดเหมือนกัน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม
Fake News คืออะไร?
Fake News นั้นถ้าให้แปลตรง ๆ เลยก็คือข่าวปลอม ข่าวลวง หรือข่าวที่ไม่ได้เป็นความจริง คุณ Michael Radutzk โปรดิวเซอร์ของรายการ 60 Miniutes ได้เคยนิยาม Fake News ไว้ว่า
“stories that are provably false, have enormous traction in the culture, and are consumed by millions of people”
หรือ
เรื่องราวที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ และเข้าถึงคนหลักล้าน
จริงๆแล้ว Fake News หรือข่าวปลอมเป็นเรื่องที่มีในอินเทอร์เน็ตที่มีมานานแล้ว แล้วพอมีโซเชียลมีเดียอย่างทุกวันนี้ มันก็ยิ่งระบาดหนัก แถมเร็วมากขึ้นไปอีก แล้วจริงๆแล้ว ไม่ใช่แค่ข่าวปลอมที่เรียกว่า Fake News แต่รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริงด้วย มีตั้งแต่เรื่องไม่จริงที่ทำขึ้นเพื่อความตลก เสียดสี ซึ่งผู้อ่านก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง แต่คนที่โดนล้ออาจไม่ขำด้วย ซึ่งนับว่าเป็น Cyber Bully แบบหนึ่ง อีกประเภทหนึ่งก็คือ ข้อมูลที่มีเนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งอาจทำขึ้นโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ แต่ Fake News เดี๋ยวนี้ มันก็เนียนมาก จนถ้าไม่ตรวจสอบดีๆ ก็อาจจะหลงเชื่อคิดว่าเป็นข่าวจริงได้ง่ายๆ
Information Disorder คืออะไร?
อ.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด ได้อธิบายเกี่ยวกับ Information Disorder ไว้ว่า เราสามารถดูว่าข่าวที่เรากำลังอ่านอยู่เป็น Fake News หรือไม่จาก Information Disorder หรือความบิดเบือนของข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งอธิบายง่ายๆ มันเป็นเหมือนวงกลม 2 วงที่มีส่วนซ้อนทับกัน ส่วนซ้ายสุดเรียกว่า Misinformation ส่วนตรงกลางเรียกว่า Disinformation และส่วนขวาสุดเรียกว่า Mal-Information
ภาพ prinya.org
Misinformation คือ ข้อมูลที่ผิด 100% มั่ว ไม่มีความจริงอยู่เลย เช่นคุณแม่กินสมุนไพรตัวหนึ่งแล้วไม่ต้องกินยาความดัน (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด) แกก็มีความอยากจะแชร์ให้เพื่อนแก แล้วถ้าสมมุติเพื่อนแกเชื่อไม่กินยาความดันตาม ก็อาจจะเสียชีวิตได้
Malinformation ข้อมูลตรงส่วยนี้ทางตรงข้ามกับ Misinformation นั้นก็คือเป็นข้อมูลที่จริง 100% แต่สร้างความเสียหายให้กับตัวเจ้าของข้อมูล และอาจนำไปสู่การละเมิด และอาจจะฟ้องหมิ่นประมาทกันได้
Disinformation ข้อมูลที่อยู่ตรงกลางเป็นข้อมูลที่จริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง หรือ Half Truth ข้อมูลตรงส่วนนี้จะมีความจริงแค่บางส่วน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือถ้าเราไม่ตรวจสอบให้ดี Fake News ในปัจจุบันมักจะใช้วิธีนี้ ทำให้เราต้องระวังให้มาก
“Half truth is a whole lie”
Benjamin Franklin
AI ตรวจจับ Fake News ข่าวปลอม
ตอนนี้ AI ถูกนำเข้าไปใช้กับเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง และการตรวจจับข่าวปลอมก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่นำ AI เข้ามาช่วย ซึ่ง ดร. สัญญ์สิริ ธารประดับ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง AI กับ Social Media ได้อธิบายการนำ AI เข้ามาตรวจจับข่าวปลอมบน Twitter ไว้ว่า วิธีหนึ่งที่ AI นำมาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมก็คือ การดูลักษณะการใช้ทำ ถ้าเป็น Fake News จะมีการใช้คำที่รุนแรงกว่าข่าวทั่วไป เพราะต้องการให้เร้าอารมณ์ของคนอ่านมากกว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ AI ตรวจจับได้คือการแชร์ ถ้าเป็น Fake News จะมีการแชร์ที่สูงมากในช่วงแรก ถ้าเขียนออกมาเป็นกราฟ ก็จะได้กราฟในลักษณะหนามแหลม เพราะ มีปริมาณการทวีตหรือรีทวีตที่เยอะมาก ในขณะที่ถ้าเป็นข่าวจริง จะมีการแชร์ที่ดุเดือดน้อยกว่า
อีกรูปแบบหนึ่งก็คือการดูพฤติกรรมของกลุ่มคนที่แชร์ข่าวนั้นๆ ในอดีตที่ผ่านมา ก็สามารถบอกได้ว่าข่าวนั้นมีโอกาสเป็นข่างปลอมหรือไม่ เมื่อนำข้อสังเกตหลายๆ อย่างมารวมกัน ก็จะทำให้เราประเมินได้ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริง หรือ Fake News
วิธีตรวจสอบ Fake News ข่าวปลอม เบื่องต้น
ถ้าไม่ใช้ AI เราก็สามารถรู้ได้ว่าข่าวที่เราอ่านอยู่เป็น Fake News หรือไม่ เมื่อดูจาก 3 อย่างนี้
- ดูความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและการอ้างอิง หากไม่ระบุข้อมูลใดๆ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็น Fake News
- ลองหาดูว่ามีเว็บไซต์ หรือแหล่งข่าวอื่นที่มีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ และเช็กภาพจากข่าวเก่า เพราะ Fake News อาจใส่ภาพจากข่าวเก่าๆ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
- สอบถามหน่วยงานหรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ ศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแแชร์ สำนักข่าวไทย ให้ช่วยตรวจสอบแหล่งที่มาเพื่อความมั่นใจ
แล้วรู้ว่าข่าวนั้นเป็น Fake News ก็อย่าแชร์ต่อเด็ดขาด เพราะการแชร์จะมีความผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คอม มาตรา 14 นำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ไม่ว่าจะอ่านข่าวอะไร ก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนจะเชื่อ ก่อนจะแชร์นะ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ Fake News
ติดตามชมรายการ ไอที 24 ชั่วโมง ตอน “Fake News ข่าวปลอม ทำยังไงเราถึงไม่เป็นเหยื่อ” รายการย้อนหลัง Link นี้เลย
https://www.it24hrs.com/2023/fake-news/
ออกอากาศวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566
รายการไอที 24 ชั่วโมง ทางช่อง 9MCOT HD ทุกวันอาทิตย์ เวลา 13.00 น.
อย่าลืมกดติดตามอัปเดตข่าวสาร เทคนิคดีๆกันนะคะ Please follow us
Youtube it24hrs
Twitter it24hrs
Tiktok it24hrs
facebook it24hrs
ติดต่อโฆษณา it24hrs@it24hrs.com โทร 0802345023