ในงาน CES 2019 ที่ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา Honda ขนเทคโนโลยีมาจัดแสดงอย่างจัดเต็ม ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการเคลื่อนที่ (Mobility) โรโบติกส์ (Robotics) และการจัดการพลังงานสุดล้ำ (Energy Management) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิตเพื่อสร้างสรรค์โลกที่สะอาด ปลอดภัย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นโดยมีการสาธิตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ผ่านรถยนต์ ฮอนด้าพาสสปอร์ต โฉมใหม่ ในปี 2019
ชมคลิป เอิ้น-ปานระพี พาชมของจริงที่บูธ Honda เทปการ live ทางเพจ it24hrs ( facebook.com/it24hrs ) สด ตรงจากงาน CES2019 Las Vegas ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 11 ม.ค.62 เวลาสหรัฐอเมริกา (12 ม.ค.62 เวลาไทย)
ส่วนฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ทางรายการ Digital Thailand (ช่อง3SD) และรายการ ไอที24ชั่วโมง (it24hrs ช่อง 9MCOT HD) เร็วๆนี้จ้าาาา
สำหรับไฮไลท์ของงานนี้เลยก็คือ ครั้งแรกของการเผยโฉมต้นแบบยนตรกรรมออฟโร้ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Honda Autonomous Work Vehicle ที่จัดว่าเป็น autonomous vihicle คันเดียวที่เป็น offroad ในงาน CES2019 ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่มาโชว์ แต่ Honda Autonomous Work Vehicle นี้ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงมาแล้วหลายสนาม! สามารถใช้ได้ทั้งการเกษตร การก่อสร้าง การกู้ภัย
Honda Autonomous Work Vehicle ต้นแบบยนตรกรรมออฟโร้ดขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผสมผสานช่วงล่าง ATV (All-Terrain Vehicle) ของฮอนด้าและเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติอันล้ำสมัยเข้าด้วยกัน ซึ่งได้รับการออกแบบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนา ฮอนด้าอาร์ แอนด์ ดี ที่ซิลิคอน วาเล่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงานสำหรับหน่วยงานราชการและธุรกิจต่างๆ เพื่อใช้ในงานก่อสร้างเกษตรกรรม ภาระกิจค้นหาและช่วยชีวิต ตลอดจนการดับเพลิง
SAFE SWARM คือ แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความฝันของฮอนด้าในการสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นจริง ทำให้การจราจรลื่นไหลและปลอดภัย ผ่านการเชื่อมต่อเทคโนโลยีในรถยนต์ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน
ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดีได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในการพัฒนาแนวคิด SAFE SWARM โดยมีจุดประสงค์ให้รถยนต์สามารถสื่อสารกันผ่านระบบไร้สายและการจราจรมีความลื่นไหลและคล่องตัว เหมือนการเคลื่อนไหวของฝูงปลา SAFE SWARM ใช้เทคโนโลยี Vehicle-to-Everything (V2X) เพื่อให้รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารกับรถยนต์คันอื่นที่อยู่รอบข้าง และแชร์ข้อมูลสำคัญ อาทิ ตำแหน่งและความเร็วของรถ ซึ่งข้อมูลต่างๆ นี้จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์หรือระบบขับขี่อัตโนมัติสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งภายในรถเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้สภาพแวดล้อม สภาพการจราจรรอบตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในสถานการณ์ที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้
เทคโนโลยีนี้เป็นอาศัยข้อมูลจากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ด้านหน้ามาประมวลผลเพื่อลดการจราจรที่ติดขัด หรือคำนวณการเบรกรถยนต์ได้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกกระทันหัน หรือการเปลี่ยนเลนเมื่อจำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถประมวลได้ผ่านระบบการสื่อสาร V2X ที่ติดตั้งในตัวรถ ที่ประสานการทำงานกับเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถ หรือแม้แต่เซ็นเซอร์ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่นั้นๆ หลังจากการเปิดตัวแนวคิด SAFE SWARM ครั้งแรกในงาน CES 2017 ฮอนด้า ได้ทำการทดสอบในสนามปิด และจะทำการประเมินแนวคิดนี้ในสภาพแวดล้อมการขับขี่จริงที่ 33 Smart Mobility Corridor ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งจะเป็นเส้นทางถนนที่มีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์และระบบ โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรแบบต่อเนื่องที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อให้การทดสอบ SAFE SWARM™ มีความรุดหน้าอย่างรวดเร็วฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งอัจฉริยะ(Intelligent Transportation System – ITS) รวมถึงพันธมิตรทางด้านระบบการเชื่อมต่อและรถยนต์ไร้คนขับ (Connected and Automated Vehicle – CAV)
โรโบติกส์ เพื่อยกระดับ และเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิต ฮอนด้า เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านโรโบติกส์ในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตที่อุปกรณ์หุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือและเสริมศักยภาพการใช้ชีวิตของมนุษย์ Honda P.A.T.H. (Predicting Action of the Human) Bot คือหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเองในสถานที่สาธารณะโดยไม่รบกวนผู้คนรอบข้าง สร้างขึ้นจากเทคโนโลยี AI มาพร้อมกล้องและเซ็นเซอร์ติดตั้งในตัวใช้ในการระบุตำแหน่งของตัวเองและจดจำสภาพแวดล้อมรอบข้าง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปยังที่หมายต่างๆ ได้ โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางและสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดได้ด้วยตัวเอง (ซึ่งตอนนี้ ฮอนด้ากำลังมองหาพันธมิตรที่จะมาร่วมทดสอบการใช้งาน P.A.T.H. Bot ร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโรโบติกส์เป็นไปได้ง่ายขึ้น)
ฮอนด้าได้เปิดตัว Handa RaaS (Robotics as a Service) Platform ซึ่งเป็นแนวคิดแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานทั่วไป เช่นการเก็บและแชร์ข้อมูล การควบคุมการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสถานะ และการร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์ ผ่านอินเทอร์เฟซหรือแพ็คเกจ API*2 และ SDK*3 โดยฮอนด้ามีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการบูรณาการของบริการโรโบติกส์ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์หุ่นยนต์ ระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งพัฒนาโดยฮอนด้าและพันธมิตรโดยฮอนด้ากำลังมองหาความร่วมมือจากผู้พัฒนาอุปกรณ์หุ่นยนต์และผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านโรโบติกส์เพื่อให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังเผยโฉม Honda Omni Traction Drive System ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวที่มาพร้อมระบบล้อขับเคลื่อนรอบทิศทาง ซึ่งพัฒนามาจากการค้นคว้าและวิจัยด้านโรโบติกส์ของฮอนด้าซึ่งอยู่ในหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของฮอนด้า อาซิโม (ASIMO) ซึ่งช่วยให้ ยูนิ-คับ (UNI-CUB) พาหนะส่วนบุคคลสามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทางอย่างเป็นธรรมชาติ และในงาน CES 2019 ครั้งนี้ Honda Developer Studio ได้นำรถยนต์ฮอนด้า พาสสปอร์ต โฉมใหม่ปี 2019 มาใช้ในการสาธิตประสบการณ์การขับขี่แบบ Honda Dream Drive ที่เหนือชั้นกว่าเดิม โดย Honda Developer Studio ได้ร่วมมือกับ DreamWorks Animation สร้างสรรค์ Honda Dream Drive ขึ้น ซึ่งเป็นการจำลองประสบการณ์แบบเสมือนจริง (Virtual Reality – VR) ที่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของรถยนต์ และได้จัดแสดงในงาน CES 2017 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้น มีการต่อยอดแพล็ตฟอร์ม Honda Dream Drive โดยเพิ่มฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ๆ รวมทั้งการจำลองสถานการณ์ต่างๆ สำหรับทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
Honda Dream Drive – สำหรับผู้ขับขี่ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากการต่อยอดแนวคิดเทคโนโลยีการชำระเงินในรถยนต์ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2017 เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถจองร้านอาหาร จ่ายค่าสินค้าและบริการ ทั้งค่าน้ำมัน บัตรชมภาพยนตร์ และค่าที่จอดรถและแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ขับ โดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ผ่านระบบกระเป๋าเงินอัจฉริยะที่ติดตั้งอยู่ในรถฮอนด้า สำหรับผู้โดยสาร ประกอบด้วย เกมแบบมิกซ์เรียลลิตี้ ภาพยนตร์ และแอปพลิเคชันด้านการเดินทาง รวมทั้งการควบคุมวิทยุและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องโดยสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ในอนาคต แพลตฟอร์ม Honda Dream Drive ยังได้เตรียมเปิดตัวแนวคิดระบบสะสมคะแนนสำหรับลูกค้า และจากการสอบถามก็ทราบว่า ระบบนี้จะให้ใช้งานในรถ honda ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2019 นี้เลย
หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ทางฮอนด้า มีโครงการ Honda Xcelerator ที่มีเจตนารมณ์ร่วมเสริมสร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ซึ่งในบูธที่งาน CES2019 ก็ได้มีการโชว์ Noveto Systems และ Perceptive Automata อันเป็นความร่วมมือกับบริษัท Startup เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการขับขี่
Honda Xcelerator และ Noveto จะสาธิตเทคโนโลยีระบบเสียงสามมิติซึ่งพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี Noveto Smart Audioของ Noveto โดยสามารถส่งสัญญาณเสียงไปยังหูแต่ละข้างของผู้ฟัง พร้อมกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่สัมผัสได้สู่ผู้ขับขี่ โดยที่ไม่ต้องละสายตาจากท้องถนน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ขับรถเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยเตือนว่ามีสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างขัดเจน จากการจับสัญญาณผ่านเซ็นเซอร์ในรถยนต์ รวมทั้งช่วยให้ระบบนำทางในรถยนต์ทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับผลงานที่ Honda Xcelerator พัฒนาร่วมกับ Perceptive Automata จะช่วยทำให้การใช้รถใช้ถนนปลอดภัยและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สำหรับทั้งผู้ขับขี่และพาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) Perceptive Automataจะ ทำให้พาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีสัญชาตญานเหมือนมนุษย์ ในการเข้าใจสภาวะทางจิตใจของผู้เดินถนน ผู้ขับขี่จักรยาน และผู้ขับขี่รถยนต์ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในรถยนต์ โดยเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้การใช้งานระบบขับขี่อัตโนมัติมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น