ถ้าจะมองการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของโลก ที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอดีต เราจะมีความรู้สึกว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นจริงในวันนี้และในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนมนุษย์ หรือรถจะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ แต่หากเราย้อนคิดไปในอดีต เราก็จะพบว่าสิ่งต่างๆหลายสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่ามันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่มันเป็นภาพ “สโลโมชั่น” เท่านั้น ดังมีภาพเก่าๆให้นึกถึงดังนี้
1966 เป็นปีที่เป็นจุดกำเนิดอินเทอร์เน็ตจากโครงการ ARPANET ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ที่มีความพยายามจะคิดค้นหาวิธีสร้างระบบเครือข่ายสื่อสารที่ไม่สามารถทำลายให้ล้มเหลวได้ และในที่สุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้นำเทคโนโลยีนี้ให้ภาคธุรกิจได้เอาไปใช้ในช่วงปี 1990 ซึ่งตั้งแต่นั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปี 1991 เทคโนโลยี World Wide Web (WWW) เริ่มพัฒนา จนส่งผลให้อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วทั่วโลก จึงทำให้ในวันนี้กว่า 50% ของประชากรโลก (เกือบ 4 พันล้านคน) สามารถเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารกันบนอินเทอร์เน็ต
1983 เป็นปีที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่ารุ่นแรกวางตลาดโดยบริษัท Motorola รุ่น DynaTAC 800x (ยุค 1G) ซึ่งมีราคาสูงถึง 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง โดยใช้สื่อสารทางเสียงเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นยุคที่ Motorola เป็นผู้นำอันดับที่ 1 ในตลาด (มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกเพียง 34 ล้านคน) และในขณะนั้นก็ไม่มีใครเชื่อว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในวันนี้จะมีราคาถูกจนทุกคนหาซื้อได้
1992 มีการทดลองในห้อง Lab ส่งข้อความ SMS เป็นครั้งแรกด้วยคำว่า “Merry Christmas” โดยในปี 1993 NOKIA ผลิตโทรศัพท์ที่สามารถส่ง SMS ได้เป็นรุ่นแรกของโลก จนในปี 1996 เป็นปีที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่ออินเทอร์เน็ต (web-enabled mobile phone) ให้บริการเป็นครั้งแรก (ซึ่งถือว่าเป็นยุค 2.5G) โดยบริษัท AT&T ของประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงปี 1997 การส่งข้อความ SMS ผ่าน Pager ตกลงอย่างรุนแรงหลังจากความนิยมการส่ง SMS ดัวยโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทที่ให้บริการ Pager ต้องล้มละลายและหยุดการผลิต Pager ใน mass market ในที่สุด และหลังจากที่ NOKIA เข้ามาบุกตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีการส่งสัญญาณแบบดิจิทัลเป็นรายแรก จึงทำให้ Motorola ก้าวไม่ทัน NOKIA จนถูกเบียดจนออกจากตลาดอันดับที่ 1 ไปในที่สุด และในที่สุด NOKIA ได้ก้าวเป็นอันดับ 1 แทน ซึ่ง ณ เวลานั่นก็ไม่มีใครนึกภาพออกว่าจะมีใครสามารถล้ม NOKIA ที่ยิ่งใหญ่ได้
1999 บริษัท iridium (ก่อตั้งโดย Motorola) ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมต้องประกาศล้มละลายเพราะต้นทุนสูงกว่าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่า รวมทั้งการครอบคลุมการให้บริการของเซลลูล่าที่ทั่วถึงกว่า และเนื่องจากการเติบโตของโทรศัพท์เซลลูล่ารวดเร็วกว่าจนทำให้ราคาอุปกรณ์เซลลูล่ามีราคาถูกกว่ามาก และในปี 2000 ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเริ่มให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์เป็นประเทศแรกๆ ซึ่งต่อมา 3G ได้รับความนิยมใช้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนเป็นจุดเปลี่ยนจากยุค Mobile Satellite สู่ยุค Mobile Cellular ในปีนี้เอง จนในที่สุดปี 2008 เทคโนโลยี 3G เข้ามาแทนที่เทคโนโลยี AMPS 2G ที่ Motorola ครองความเป็นหนึ่ง จน Motorola ได้ประกาศปิดการให้บริการในอเมริกาเหนืออย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ปิดฉากระบบ 2G
2002 ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มให้บริการ 3G เต็มรูปแบบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดกล้องถ่ายรูป NOKIA วางตลาดเป็นครั้งแรกของโลก (ถือได้ว่าเป็น smartphone รุ่นแรกๆ ของโลก) ต่อมาในปี 2007 iPhone ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกด้วยจุดเด่นบนเทคโนโลยี user interface ด้วยการใช้ Touch screen แทนการกดปุ่ม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น จนเขย่าวงการ mobile device อย่างหนัก ถึงขนาดทำให้ NOKIA เริ่มมียอดขายตกลงเรื่อยๆ แต่ Samsung กลับมียอดขายพุ่งทะยานแซงหน้า NOKIA ไปในปี 2012 จนในปี 2014 บริษัท Microsoft ได้เข้าซื้อกิจการของ NOKIA และในวันแถลงข่าว CEO ของ NOKIA ได้กล่าวว่า “we didn’t do anything wrong, but somehow, we lost” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก
2013 บริษัทฟิล์ม Kodak ประกาศล้มละลายจากการเข้าแทนที่ของเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่ติดบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และ 4G ที่ทำให้ผู้คนบนโลกเปลี่ยนพฤติกรรมการถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำมาเป็นการแชร์ประสบการณ์บน social media แทน และในวันนี้ smartphone ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของทุกอุตสาหกรรม ในปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 4,428 พันล้านคนทั่วโลก และคาดว่าภายในปี 2020 ประชากรโลกถึง 70% จะมี smartphone ใช้
มีการคาดการณ์ในอนาคตว่า smartphone 5G ที่ทรงประสิทธิภาพด้วยซอฟท์แวร์ AI, การควบคุมรถยนต์ หุ่นยนต์และโดรนระยะไกล, ความสามารถในการทำธุรกรรมด้วย Blockchain, ขีดความสามารถ Data analytics บน smartphone ของเราทุกคนจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจใน 5-10 ปีข้างหน้าของธนาคาร, การสื่อสารโทรคมนาคม, การประกันภัย, ร้านค้า, การขนส่ง, บันเทิง, สื่อสารมวลชน และการศึกษา จะไม่หลงเหลือรูปแบบเดิมๆ ที่เราเห็นในวันนี้เลย
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ประวัติ: http://www.xn--42cf0a8cxa3ai5ple.com/?p=165
23 กรกฎาคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com
ติดต่อผู้เขียน
march5g@hotmail.com