หลังจากที่ กสทช. ฝ่ายกิจการโทรทัศน์ เริ่มที่จะมาคุมบริการ OTT ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวีดีโอคอนเท้นต์บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่น้อยโดยเฉพาะ บริการในส่วนวีดีโอออนไลน์และการ LIVE ถ่ายทอดสดผ่านทาง facebook live เป็นต้น ดังนั้นบริการ OTT นี้ใกล้ตัวคนไทยอย่างมากในยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วไทย ทั้งเน็ตบ้าน และ 3G , 4G เลยมาทำความรู้จักกันก่อนว่าบริการ OTT คืออะไร
OTT (Over-the-top ) คือ บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเองถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน
ผู้ให้บริการ OTT ทั่วโลกสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มใหญ่ คือ
(1) ผู้ให้บริการ OTT อิสระ
(2) ผู้ให้บริการ OTT ที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์
(3) ช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการ OTT
(4) ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการ OTT
(5) ผู้ให้บริการเพย์ทีวีในรูปแบบ OTT
(6) บริการ OTT ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการต่างๆ
ซึ่งผู้ให้บริการ OTT เหล่านี้ บางรายมีรายได้จากการให้บริการที่มาจากการเรียกเก็บค่าสมาชิก (Subscription Video on Demand: SVoD) หรือเก็บค่าบริการเป็นรายครั้ง (Transactional Video on Demand: TVoD) นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ OTT บางรายยังมีรายได้จากการเก็บค่าบริการเพิ่มเติมหรือบริการเสริม (Freemium) แก่ผู้ใช้งานที่ต้องการการรับชมคอนเทนต์แบบพรีเมี่ยม
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการ OTT TV บางราย เช่น YouTube Facebook และ Line TV จะไม่เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการปลายทาง แต่จะคิดค่าบริการจากเจ้าของสินค้าและบริการที่มาลงโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มของตน (Advertising-Based Video on Demand: AVoD)
การให้บริการ OTT เริ่มเป็นบริการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะดิจิทัลทีวีในไทยได้รับผลกระทบจากเนื้อหา Content บนอุปกรณ์ OTT ดังกล่าว บอร์ด กสทช.จึงมีมติให้ OTT เป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีคณะอนุกรรมการฯเป็นผู้ขับเคลื่อนการกำกับดูแล
โดยมีรายชื่อคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ได้แก่
- พันเอก นที ศุกลรัตน์ ประธานอนุกรรมการ
- นายต่อพงษ์ เสลานนท์ รองประธานอนุกรรมการ
- พันเอก กฤษฎา เทอดพงษ์ รองประธานอนุกรรมการ
- ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ อนุกรรมการ
- นายกฤษดา โรจนสุวรรณ อนุกรรมการ
- นายทวีวัฒน์ เส้งแก้ว อนุกรรมการ
- นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ อนุกรรมการ
- นายสมบัติ ลีลาพตะ เลขานุการ
- นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขานุการ
- นายพสุ ศรีหิรัญ ผู้ช่วยเลขานุการ
- นายทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการ
แนวโน้มการรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เช่น on-demand video (ได้แก่ YouTube คลิปวีดีโอสั้น ภาพยนตร์ และซีรีส์) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ในขณะที่การรับชม Linear TV ผ่านหน้าจอโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลง
สภาพตลาด OTT ในประเทศไทย
ผู้ให้บริการ OTT ในประเทศไทยแบ่งออก ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ
(1) ผู้ให้บริการอิสระ ซึ่งได้แก่ ผู้ให้บริการสัญชาติไทย (เช่น Hollywood HDTV, Doonee และ Primetime) และต่างชาติ (เช่น YouTube, Facebook, Line TV และ Netflix)
(2) ผู้ให้บริการเพย์ทีวีในรูปแบบ OTT ได้แก่ PSI และ Truevisions anywhere
(3) ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการ OTT ได้แก่ AIS Play
(4) ช่องรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการ OTT
และหากพิจารณาส่วนแบ่งตลาด OTT ในประเทศ สามารถแบ่งพิจารณาออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ
- ในกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มีรายได้จากการโฆษณา (AVoD): ข้อมูลจาก DAAT พบว่า ผู้ให้บริการ AVoD ที่มีรายได้สูงสุดคือ Facebook (2,842 ล้านบาท) ตามมาด้วย YouTube (1,663 ล้านบาท) และอื่นๆ เช่น Line TV และผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ (502 ล้านบาท) โดยมีมูลค่าตลาดรวม 5,007 ล้านบาท
- ในกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิก (SVoD): ข้อมูลจาก Time Consulting พบว่า Hollywood HDTV ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอิสระรายแรกของไทยมีรายได้มากที่สุด (299 ล้านบาท) ตามมาด้วย Primetime (143 ล้านบาท) Monomaxxx (98 ล้านบาท) Doonee (73 ล้านบาท) iflix (18 ล้านบาท) และ Hooq (17 ล้านบาท)
ทั้งนี้ จำนวนผู้ให้บริการ OTT ในตลาดที่มีจำนวนสูงขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นจนส่งผลให้มีการลดราคาค่าสมาชิกรายเดือนลง
และจากข่าวการควบคุมอุปกรณ์ อุปกรณ์ รับชม IPTV/OTT ทั้ง Chromecast , Apple TV , Android box , Media Box , HDMI DONGLE ต้องขออนุญาตนำเข้าตามมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นี้ ทำให้เริ่มจับตาดูว่า กสทช. จะสามารถควบคุมสื่อออนไลน์ลักษณะแบบนี้อย่างไร
ข้อมูลจาก กสทช.การบรรยายงาน OTT +PTT่ โดยพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.