เทคโนโลยีต่างๆได้มีการพัฒนาไปถึงขั้นที่มีผลทำให้ประเทศหลายประเทศกลายเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนจากประเทศที่แพ้สงครามและกำลังพัฒนากลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกไปแล้ว เช่น ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ประเทศที่มีวิธีการคิดและพัฒนาประเทศแบบเดิมๆ ก็กำลังจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังอย่างไม่ทันตั้งตัว ซึ่งในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปจะมีเหตุการณ์พลิกผันทางเทคโนโลยีมากมาย ตัวอย่างเช่น
ประเทศสวีเดนได้มีเป้าหมายที่ท้าทายคือ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น น้ำมัน) ในประเทศ และเร่งการลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม การเก็บพลังงาน การผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะ และการขนส่งที่สะอาด และชาวสวีเดนกำลังรณรงค์ให้ทุกคนเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทดแทน 100 เปอร์เซ็นต์เป็นประเทศแรกของโลก
ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2017 นี้ Tesla จะมีแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานได้ถึง 100 เมกะวัตต์ใช้ในฟาร์มกังหันลมที่ Hornsdale ทางตอนเหนือของ Adelaide ประเทศออสเตรเลีย ที่ดำเนินการโดย Neoen ของประเทศฝรั่งเศส ระบบนี้จะมีกำลังการผลิต 129 เมกกะวัตต์-ชั่วโมงซึ่งจะมีกำลังไฟฟ้าเพียงพอสำหรับใช้ได้มากกว่า 30,000 หลังคาเรือน
ปัจจุบันผู้นำอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัตโนมัติในระดับโลก คือประเทศเกาหลีใต้ ที่มีความหนาแน่นของหุ่นยนต์สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงประมาณ 7 เท่า (478 หน่วย) รองลงมาคือญี่ปุ่น 314 หน่วย และเยอรมนี 292 หน่วย ส่วนสหรัฐอเมริกามีจำนวน 164 หน่วย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก
ประเทศจีนมีบทบาทอย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการขายโดรน และโดรนมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกามาจากประเทศจีน ซึ่ง IDC บริษัทวิจัยทางการตลาดกล่าวว่า ยอดขายโดรนสำหรับการพาณิชย์ในจีนจะแตะ 950,000 หน่วยภายในปี 2019 เพิ่มขึ้นประมาณ 300 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรี Theresa May ได้ประกาศว่า รัฐบาลของสหราชอาณาจักร กำลังจะออกยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา “Modern Industrial Strategy” ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G, พลังงานอัจฉริยะ เป็นหลัก โดยลงทุนถึง 4.7 พันล้านปอนด์
MIT Technology Review จัดอันดับบริษัทที่ฉลาดที่สุดในโลก (Smartest companies) ผลปรากฎว่าเกือบทุกบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทั้งสิ้น!!! ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา
ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีตลาดท้องถิ่นและล้อมรอบด้วยศัตรูอย่างประเทศอิสราเอลแต่เป็นประเทศที่มีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ของคนในชาติ ซึ่งอิสราเอลได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถือเป็นอันดับสองรองจาก Silicon Valley เท่านั้น มีบริษัทสตาร์ทอัพ 6,000 แห่งและ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอีก 350 แห่ง ที่มีมูลค่า 9.2 พันล้านเหรียญสหรัฐและมีเงินลงทุนประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 ซึ่งในขณะที่โลกมีความผันผวนอย่างมาก แต่อุตสาหกรรมไฮเทคของอิสราเอลกลับมีทิศทางที่มั่นคง
จากผลการวิจัยของ Fletcher school, Tufts University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรายงาน “Digital Planet 2017” ที่เพิ่งประกาศผลการวิเคราะห์การจัดลำดับในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ในส่วนของ Digital evolution index 2017 score และ momentum score (ดู reference) ซึ่งแสดงถึงขีดความสามารถในปัจจุบันและความพร้อมในการพัฒนาทางดิจิทัลในอนาคต ซึ่งมีประเทศจากเอเชียติดอันดับ Top 10 เช่น จีน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, และฮ่องกง ส่วนประเทศไทยนั้น ผู้เขียนไม่อยากนำเสนอ เพราะรู้สึกเศร้าและหดหู่เกินที่จะพูดถึง แต่ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาได้จาก reference ลิงค์บทความด้านล่าง
Reference
https://sites.tufts.edu/digitalplanet/files/2017/05/Digital_Planet_2017_FINAL.pdf
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ประวัติ: http://www.xn--42cf0a8cxa3ai5ple.com/?p=165
14 กรกฎาคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com
ติดต่อผู้เขียน
march5g@hotmail.com