ทุกท่านคงทราบรูปแบบการประมูลคลื่น 4G ในช่วงประมูลคลื่น 1800 MHz กันบ้างแล้ว และตอนนี้ก็ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับวันประมูลคลื่น 900 MHz ที่จะเกิดขึ้นที่สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 15 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งในการประมูลครั้งนี้ ปรับเปลี่ยนห้องประมูลใหม่ โดยเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ประมูลได้มากขึ้น ทั้งนี้มาดูรายละเอียดกันว่า ขั้นตอนการประมูลคลื่น 900 MHz เป็นอย่างไร มีความแตกต่างจากครั้งก่อนอย่างการประมูลคลื่น 1800 MHz แค่ไหน?
โดยหลังจากลงทะเบียนรายงานตัวรับบัตรประจำตัวแล้ว ผู้เข้าร่วมประมูล จะต้องตรวจสอบสัมภาระ โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องฝากอุปกรณ์สื่อสาร หรือสิ่งของที่ไม่ได้รับอนุญาตฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ กสทช. เช่น usb Flashdrive , สมาร์ทโฟน , Notebook ส่วนตัว ไม่อนุญาตนำเข้าห้องประมูลเป็นอันขาด ทั้งนี้สิ่งที่อนุญาตนำเข้าห้องประมูลได้ คือ สิ่งของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แผ่นบันทึก CD DVD จำนวนไม่เกิน 5 แผ่น เอกสารหรือหนังสือตามความจำเป็น
ผังลำดับขั้นตอนการประมูลคลื่น 900 MHz
กฎกติกาการประมูลคลื่น 900 MHz .
- ผู้เข้าร่วมประมูลจะเลือกคลื่นเพียง 1 ชุดจาก 2 ชุดที่เห็นนี้
- โดยราคาประมูลขั้นต่ำของคลื่น 900 MHz เริ่มต้นที่ 12,865 ล้านบาท ( ต่างจาก 1800 MHz ที่เริ่มต้นที่ราคา 15,912 ล้านบาท) โดยเมื่อเคาะราคารอบแรก จะขึ้นมาเป็น 13,508 ล้านบาท และ เมื่อเคาะราคารอบต่อไปจะเพิ่มขึ้นรอบละ 644 ล้านบาท และเมื่อถึง 16,080 ล้านบาทแล้ว หากมีเคาะครั้งต่อไปจะเพิ่มขึ้นรอบละ 322 ล้านบาท เรียกได้ว่าราคาประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งนี้ ถูกกว่าราคาประมูลคลื่น 1800 MHz
- การประมูลแต่ละรอบ ใช้เวลา 15 นาที และดูผลการประมูลแต่ละรอบล่วงหน้าอีก 5 นาที ก่อนที่จะเริ่มประมูลรอบถัดไป
- ผู้เข้าประมูลสามารถใช้สิทธิไม่เสนอราคา Waiver ได้เพียง 3 ครั้ง ตลอดการประมูล ผ่านทางคลิกแจ้งใช้ waiver กับ ไม่คลิกเคาะราคาภายในระยะเวลาที่กำหนด
รอบที่ 1
- ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายต้องเสนอราคา (ต้องเคาะราคา) หากไม่เสนอราคา จะพ้นสถานะผู้เข้าร่วมประมูล ทันที (ถูกริบหลักประกันด้วย)
- เมื่อเสนอราคาแล้ว เลือกชุดที่ 1 หรือชุดที่ 2 แต่ถ้าไม่มีผู้เพิ่มราคา ราคาก็คงเดิม แต่ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาในชุดใดชุดนึง ถ้ากลุ่มนั้นยื่นเพิ่มราคาเพียงรายเดียว กลุ่มนั้นก็จะได้ผู้ชนะประมูลชั่วคราวรอบนั้น แต่ถ้ามีผู้เพิ่มราคา 2 รายขึ้นไป ระบบจะ random หาผู้ชนะชั่วคราวรอบนั้น
เมื่อหมดเวลา 15 นาที แล้วจะประกาศผลการประมูลแต่ละรอบเป็นกราฟแบบนี้ แบ่งเป็นกราฟแท่งชุด 1 และชุด 2 และมูลค่าการประมูล พร้อมตัวเลขจำนวนที่เสนอเพิ่มราคาด้านบน
ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป
- หากเราผู้ชนะการประมูลชั่วคราว จะได้สิทธิตัดสินใจว่าจะเพิ่มราคาในชุดที่คุณเลือกหรือไม่อย่างเช่นชนะประมูลชั่วคราวใน ล็อตที่ 1 รอบต่อไปจะไม่สามารถสลับมาเลือกล็อตที่ 2 ได้ จะมีแต่ว่าต้องเสนอเพิ่มราคา หรือ อยู่เฉยๆไม่เพิ่มราคา หากคุณเลือกเพิ่มราคา โอกาสเป็นผู้ชนะประมูลชั่วคราวในรอบนี้สูง แต่ราคาประมูลรอบต่อไปก็สูงขึ้น หากไม่เพิ่มราคา หรือใช้ waiver รอบต่อไปจะคงที่เท่าเดิม
- แต่ถ้าผู้เข้าร่วมประมูลกลุ่มอื่นเสนอเพิ่มราคาในล็อต1 ที่เราเคยเสนอนั้น ตำแหน่งผู้ชนะชั่วคราวอาจตกเป็นของทีมอื่นทันที ซึ่งรอบต่อไป หากเราไม่ได้เป็นผู้ชนะชั่วคราว มีสิทธิที่จะเลือกสลับล็อตที่ 2 ในรอบถัดไปก็ได้
- แต่ถ้าหากใช้ waiver หรือ ไม่เสนอราคาเพิ่ม ครบ 3 ครั้ง แล้วหมดวงเงิน เงินไม่พอการประมูล ก็จะมีปุ่มกด ไม่ใช้ Waiver และออกจากการประมูล ก็จะพ้นสถานะผู้เข้าร่วมประมูล
รอบสุดท้าย
โดยการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งนี้ จะหาผู้ชนะ 2 บริษัท (บริษัทละ 1 ล็อต) จากผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 4 บริษัท ซึ่งผู้ชนะประมูลชุดไหน จะได้ใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ชุดนั้น
กำหนดเวลาเคาะประมูล
- การประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งนี้ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาและแตกต่างจากการประมูล 1800 MHz คือ มีกำหนดเวลาเคาะประมูลด้วย โดยเริ่มเคาะประมูล ตั้งแต่เวลา 9.00-21.00 น.ของวันที่ 15 ธ.ค.58 ซึ่งจะมีการเคาะ 36 ครั้ง หากยังไม่จบ จะให้พักการประมูลเป็น 3 ชั่วโมง และจะกลับมาเคาะราคาต่อเวลา 00.01 น.- 06.00น. ของวันที่ 16 ธ.ค. 58 และถ้ายังไม่จบการประมูลในเวลา 6.00 น. ก็จะให้พักการประมูล 3 ชั่วโมงอีกครั้ง เริ่มประมูลกันต่อในเวลา 9.00น – 21.00น. และ 00.01-06.00น. ไปเรื่อยๆจนกว่าจะจบการประมูล ซึ่งการเพิ่มเวลาพักนี้ เพื่อให้ผู้เข้าประมูลได้พักผ่อน.
ทั้งหมดนี้คือกฎกติกาการการประมูลคลื่น 900 MHz ก่อนที่จะเริ่มประมูลจริงในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ มาลุ้นกันว่าการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งนี้จะดุเดือดเหมือนตอนประมูลคลื่น 1800 MHz หรือไม่