ในช่วงเดือนเมษายนนี้หลายท่านมีแผนที่จะไปเที่ยว หรือกลับไปบ้านในช่วงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในระหว่างเดินทาง หรือเล่นสาดน้ำ ฉีดน้ำ ตามสถานที่ต่างๆ นั่นคือ ระวังโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเปียกน้ำ เพราะหากโดนเปียกน้ำแล้วเครื่องอาจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นช็อตและ ใช้งานไม่ได้อีก ถึงขั้นต้องเสียเงินซื้อมือถือใหม่ แต่ถ้าหากคุณจำเป็นต้องนำมือถือติดตัวมาด้วย มาดูขั้นตอนเตรียมมือถือของคุณให้พร้อม ก่อนลุยน้ำกัน
แน่นอนโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ จะไม่แนะนำเอาไปเล่นน้ำ หรือไปตากฝน แต่จะมีมือถือสมาร์ทโฟนบางรุ่น (ส่วนใหญ่จะเป็น Android ) มีความสามารถกันน้ำได้ด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2014-2015 ที่ผ่านมามีเปิดตัวมือถือที่สามารถกันน้ำได้หลายรุ่นด้วยกัน เช่น มือถือตระกูล Xperia จาก Sony หลายรุ่นสามารถกันน้ำได้ เช่น Xperia Z , Z1, Z2 , Z3 , Z Ultra , Xperia รวมถึงรุ่นที่เปิดตัวล่าสุดอย่าง Xperia Z4 ด้วย ส่วนแบรนด์อื่นๆอย่างเช่น Samsung , HTC , i-Mobile มีเพียงแบรนด์ละรุ่นเท่านั้นที่มีความสามารถกันน้ำได้ คือ Samsung Galaxy S5 , HTC Desire Eye , i-mobile IQ X KEN
ทั้งนี้วิธีการสังเกตมือถือที่มีคุณสมบัติกันน้ำ คือดูที่สเปคของเครื่องที่ข้อมูล หรือบริเวณกล่องมือถือ จะมีระบุค่ามาตรฐาน IP Code ด้วย ซึ่งหลายท่านที่ชมโฆษณามือถือ ที่สามารถกันน้ำได้จะมี ค่ามาตรฐาน IP CODE แสดงบนหน้าจอ หรือหน้าป้ายโฆษณา เช่น IP 67 บนมือถือ Samsung Galaxy S5 หรือ IP 68 บนมือถือ Sony
ตัวเลขตำแหน่งแรก คือ ระดับการป้องกันของแข็ง
0 : ไม่สามารถป้องกันของแข็งอะไรได้เลย
1 : ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 มิลลิเมตรเข้ามาภายในอุปกรณ์
2.: ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 12.5 มิลลิเมตรเข้ามาภายในอุปกรณ์
3 : ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มิลลิเมตรเข้ามาภายในอุปกรณ์
4 : ป้องกันของแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มิลลิเมตรเข้ามาภายในอุปกรณ์
5 : ป้องกันฝุ่งละอองได้เล็กน้อย
6 : ป้องกันฝุ่งละอองได้
ตัวเลขตำแหน่งที่ 2 คือ ระดับการป้องกันของเหลว
0 : ไม่สามารถป้องกันของเหลวอะไรได้เลย
1 : ป้องกันน้ำที่ตกจากแนวดิ่ง (ป้องกันเฉพาะน้ำที่ตกมาโดนจากแนวตั้ง 90 องศา)
2 : ป้องกันน้ำจากแนวตั้งทำมุมเอียง 15 องศา
3 : ป้องกันน้ำจากแนวตั้งทำมุมเอียง 60 องศา
4 : ป้องกันน้ำได้ทุกทิศทาง
5 : ป้องกันโทรศัพท์จากการถูกฉีดด้วยน้ำแรงดันต่ำทุกทิศทาง
6 : ป้องกันการถูกฉีดด้วยน้ำแรงดันต่ำ และสามารถเปียกน้ำได้เพียงชั่วครู่
7 : ป้องกันการแช่น้ำที่ความลึก 15 -100 ซม. หรือป้องกันน้ำได้ 1 เมตร
8 : ป้องกันการแช่อยู่ในน้ำ และสามารถใช้งานในน้ำได้
ดังนั้นการที่นำมือถือมาลุยเล่นน้ำด้วยได้นั้นต้องเลือกที่มีค่า IPในเลขท้ายสุดสูงๆ โดยเฉพาะ IP 68 จะเป็นรุ่นที่กันน้ำกันฝุ่นได้ดีที่สุด ถึงขั้นแช่ในน้ำลึก และถ่ายภาพใต้น้ำได้โดยไม่ต้องใส่ซองกันน้ำเลย อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ทดสอบกับน้ำบริสุทธิ์ เท่านั้น หากนำไปเล่นน้ำคลอง น้ำทะเล ก็อาจเป็นอันตรายต่อมือถือได้เช่นกัน แต่อย่างน้อยรุ่นที่มีมาตรฐานที่มีเลขท้ายของ IP สูงๆสามารถกันน้ำได้ระดับนึง
แต่ถ้ามือถือของเราไม่กันน้ำเลย ซึ่งส่วนใหญ่มือถือจะไม่ค่อยกันน้ำอยู่แล้ว ก็มีวิธีอื่นที่ป้องกันไม่ให้มือถือเปียกน้ำได้ เช่น
ใส่ซองกันน้ำ ซึ่งมีหลายแบบหลายราคา ถ้าราคาถูกก็ได้เพียงแค่พอกันสาดเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญซ่อมมือถือให้ข้อมูลว่า หากซื้อซองกันน้ำธรรมดาแล้วเกิดมีรูเพียงเล็กน้อยที่อากาศเข้าไปได้ น้ำ หรือความชื้นก็จะค่อยๆซึมเข้าไป ทำให้มือถือพังได้
ถ้าจะให้มือถือที่ใส่ซองกันน้ำเล่นน้ำแล้วไม่เปียกไม่มีน้ำเข้าเลย ต้องเป็นซองที่ปิดมิดชิดไม่ให้มีช่องให้อากาศหรือน้ำเข้าไปในซองได้เลย ซึ่งซองแบบนี้ราคาจะแพงกว่าซองธรรมดา
อีกวิธีนึงเริ่มเป็นที่นิยมทำคือ นำโทรศัพท์มือถือมาเคลือบกันน้ำ ซึ่งวิธีนี้จะต้องทำการแกะเครื่องสมาร์ทโฟน นั่นหมายความว่า หากมือถือโดนแกะเครื่องแล้ว เครื่องจะหมดประกันทันทีด้วย ซึ่งการนำมือถือมาเคลือบนั้น ทางร้านจะเคลือบบอร์ดแผงวงจรต่างๆ รวมถึงพอร์ทต่างๆ ให้สามารถกันน้ำได้โดยที่ไม่ต้องปิดรูหูฟัง หรือช่อง USB เลย แต่ความสามารถกันน้ำโดยใช้วิธีการเคลือบกันน้ำนี้ ไม่ได้กันน้ำได้ดีเท่าพวก Sony Xperia หรือ Galaxy S5 ดังนั้นหากคุณมีมือถือสมาร์ทโฟนที่หมดประกันแล้ว หรือซื้อมือถือเครื่องหิ้วมา ละก็ วิธีนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกันน้ำกันได้ ทั้งนี้ มือถือ iPhone ก็สามารถนำมาเคลือบกันน้ำได้ แต่ร้านที่รับเคลือบกันน้ำ มีไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่ดังๆ เช่น ร้าน Hashtag ชั้น 4 Centralworld และ Storm Shadow ตึกคอม จ.ชลบุรี ราคาอยู่ประมาณ 1,000 กว่าบาท
อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดคือ เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น อย่านำมือถือโดนน้ำ เปียกน้ำ โดนฝน อย่าเผลอทำมือถือตกส้วม ตกคลอง เพราะความชื้นจากกรณีน้ำเข้าเครื่องจะทำให้เครื่องช็อตใช้งานไม่ได้ ปลอดภัยสุดคือมือถือเก็บไว้ที่บ้าน ที่พัก ล็อกเกอร์ไว้จะดีกว่า