ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะต้องเจอกับอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมาในอดีต ก่อนที่จะมียุค Interrnet และ Social Network หลายท่านก็คงจ้องแต่จอติดตามข่าวสารผ่านทางสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวน้ำท่วมในเฉพาะช่วงเวลาข่าว หรือเสนอแบบวันต่อวัน แต่ด้วยยุคปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตใช้งานอย่างแพร่หลาย หน่วยงานต่างๆ ผู้สื่อข่าว และประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ใช้อินเตอร์เน็ตในรายงานข้อมูลข่าวสาร แจ้งขอรับความช่วยเหลือ ตลอดจนใช้ในการแจ้งเตือนภัยให้กับชาวบ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบ Realtime ทราบได้ทันที ช่องทางที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้มีดังนี้
เริ่มต้นที่เว็บไซต์ ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรือ Thaiflood ที่เปิดตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อ วันที่ 22 ตุลาคม 2553 จนถึงตอนนี้ได้เปิดอัพเดทข้อมูลรายงานสถานการณ์ พร้อมรับเรื่องขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบอุทกภัยเป็นครั้งที่ 3 แล้วในช่วงวิกฤตน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ในช่วงนี้ โดยจะรายงานจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย แสดงเป็นสีระดับเตือนภัยอย่างชัดเจนบนหน้าเว็บไซต์ แจ้งพื้นที่ประสบภัยที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมเบอร์โทรศัพท์แจ้งหน่วยงานต่างๆ แผนที่แสดงจุดเกิดอุทกภัยบนทางหลวง รวมเลขทีบัญชีบริจาคทรัพย์สิ่งของ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมเรื่องน่ารู้รับมือน้ำท่วมที่เป็นประโยชน์ และสำคัญมากคือการเตือนภัยจากหน่วยงานและชาวบ้าน ผ่านทาง twitter @thaiflood , tag twitter ชื่อ #thaiflood และ Facebook Page ทาง facebook.com/thaiflood ด้วย และล่าสุดได้เปิดแบบฟอร์มแจ้งความต้องการในพื่นที่และแจ้งการเข้าไปช่วยเหลืออีกด้วย
Google ได้จัดทำ Google Crisis Response ที่ได้รับประสบการณ์ในการให้ข้อมูลแผนที่และให้ความช่วยเหลือต่างๆเกี่ยวกับภัยธรรมชาติในหลากหลายประเทศ เช่นสึนามิ ประเทศญี่ปุ่น และ แผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ ครั้งนี้ Google ประเทศไทย เปิดตัวบริการข้อมูล วิกฤตการณ์น้ำท่วมประเทศไทย 2554ที่จะแจ้งให้ทราบถึงบริเวณพื้นที่อุทกภัย พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ศูนย์อพยพและศูนย์พักพิง โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ ThaiFlood.com เช่น พื้นที่ประสบภัย ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน , จุดร้องขอความช่วยเหลือ , ข้อมูลศูนย์อพยพ และ ศูนย์พักพิง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย , แผนที่น้ำท่วมทางหลวง โดย กรมทางหลวง , สภาวะทางหลวงจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น และยังสามารถ ติดตามข้อมูลการพัฒนาและอัพเดทข่าวสารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้ที่ทวิตเตอร์ @GoogleThailand หรือที่ บล็อก Google ประเทศไทย (RSS) ทั้งนี้ Google ได้ส่งสารแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจกับผู้ประสบอุทกภัยด้วย
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ http://www.ndwc.go.th เว็บไซต์รวมข่าวสารภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงนี้ก็ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่แค่น้ำท่วมเท่านั้น ยังมีรายงานสถานการณ์อื่นๆที่เคยเกิดขึ้นเป็นภัยพิบัติในประเทศไทย ก็คือแผ่นดินไหว และการแจ้งเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิในภาคใต้
เว็บไซต์กรมชลประทาน www.rid.go.th ก็เป็นเว็บไซต์อีกแห่งที่ท่านสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างเป็นทางการ ประกาศเตือนภัย ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล
Flood.gistda.or.th โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)เป็นเว็บไซต์แสดง ข้อมูลแผนที่รายงานคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วม (Thailand Flood Monitoring System ) โดยจะแสดงสีฟ้าบนแผนที่ตามจังหวัดต่างๆที่ถูกน้ำท่วมแล้วและจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งเว็บไซต์นี้อยู่ในระหว่างการวิจัย แต่เปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการ
Facebook Pageน้ำขึ้นให้รีบบอก (http://www.facebook.com/room2680) เป็นการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม และแจ้งขอความช่วยเหลือ โดยชาว facebook ได้รายงานจากสถานที่จริง หรือจากผู้ประสบอุทกภัยโดยตรง หากได้อ่านหน้าแสดงความคิดเห็นแล้วจะรู้ถึงสภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ facebook page นี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เพียง 3 วันก็มีผู้เข้าไปกด like ร่วมรายงานสถานการณ์แล้วกว่า 77,000 คน
Twitter และ facebook ของ ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ก็เป็นเว็บไซต์ที่ชาว กรุงเทพที่ต้องกด Like หรือ follow เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยจะมีทั้งประกาศฉุกเฉินของทางกรุงเทพมหานคร รายงานสภาพระดับน้ำตามคลองต่างๆ สภาพอากาศทั่วกรุงเทพ และสภาพน้ำท่วมในเขตกรุงเทพ ด้วย ซึ่งประกาศโดยศูนย์ป้องกันฯ โดยตรง ติดตามผ่าน twitter ที่ @bkk_best , facebook.com/bkk.best และ http://dds.bangkok.go.th/m
และนอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์รายงานน้ำท่วมจากเว็บอื่นอีกมากมายให้ลองไปติดตามที่เว็บไซต์เทศบาล และเว็บไซต์จังหวัดของท่าน จะมีรายงานความเคลื่อนไหวของสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมประกาศต่างๆ
ส่วนแอพพลิเคชั่นบนมือถือตอนนี้พบว่ามีแค่แอพบน Android เท่านั้นที่มีแอพที่เกี่ยวข้องกับรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดย Search คำว่า Thaiflood บน Android Market ก็จะเจอ 2 แอพที่รายงานสถานการณ์น้ำท่วมโดยดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ thaiflood.com แล้ว
ส่วนสำหรับ iOS นั้น ก็มีแอพรายงานน้ำท่วมแล้ว ชื่อว่า Thai Flood Reporter เป็นแอพที่ให้คุณแจ้งรายงานสภาพน้ำท่วม โดยจะส่งตำแหน่งที่อยู่และเวลาขณะรายงาน รวมถึงภาพถ่ายและ Hashtag #thaiflood ไปยังทวิตเตอร์ และมีส่ง SMS ไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อขอความช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วมได้ด้วย ผลงานโดย @rawitat หาโหลดมาติดตั้งบน iPhone และ iPad ได้ทาง App Store หรือคลิกที่นี่
อีกช่องทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ง่ายแต่นิยมมากเช่นกัน คือการบริจาคผ่านช่องทาง ส่งข้อความ sms พิมพ์ 3 ส่งไปที่ 4567899 ( ใช้ได้ทั้ง AIS , DTAC , Truemove ) แค่นี้ก็ได้มีส่วนบริจาคสมทบ “ครอบครัวข่าว 3 ช่วยผู้ประสบอุทกภัย 2554” แล้ว หรือ ใครที่ประสบภัยน้ำท่วมสามารถ ส่งSMS เพื่อขอความช่วยเหลือไปที่ 4567892 ฟรี
นอกเหนือจากเว็บไซต์รายงานสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมแล้ว ต้องติดตามเว็บไซต์อื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น
เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th จะคอยรายงานสภาพอากาศ และประกาศเตือนภัยไปยังจังหวัดต่างๆให้รับมือสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะ ลมมรสุม ฝนตก พายุ และน้ำทะเลหนุนสูง ที่จะต้องติดตามแบบวันต่อวันเลยทีเดียว เพราะในขณะนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่ออุทกภัยในขณะนี้คือปริมาณน้ำฝน เนื่องจากเมื่อมีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์ก็จะยิ่งหนักยิ่งขึ้น ดังนั้นการติดตามเพื่อเตรียมการรับมือและคาดการณ์กันได้ก่อน ก็จะช่วยได้
และส่วนคนขับรถสัญจรไปมาไปจังหวัดต่างๆ หรือคนขับรถบรรทุกที่ต้องส่งของคงจะต้องติดตามสภาพจราจรด้วย มีเส้นทางจราจรหลายเส้นทางที่ถูกน้ำท่วมสูง รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ดังนั้นควรติดตามสถานการณ์จราจร ซึ่งติดตามได้โดยสอบถามทางโทรศัพท์ ชมเว็บไซต์ และทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือ รายละเอียดติดตามที่ลิงค์นี้ ที่รวบรวมทั้ง แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ และ Social Network ที่ช่วยรายงานสภาพจราจร
ทั้งหมดนี้ คือบทบาทเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยเตือนภัย รายงานสถานการณ์ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่ท่านสามารถติดตามและให้ความช่วยเหลือกันได้…ขอให้ประเทศไทย ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ในเร็ววัน!!